top of page

เรื่องราวเกี่ยวกับ วัตถุประสงค์, ภารกิจหลัก, ผลงานที่ำคัญ, โครงสร้างการดำเนินงานและ โครงการสำคัญของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช

เพื่อเข้าชม 

เรื่องราวมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช

มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าFoundation of King Rama Nine, The Great

๑. วัตถุประสงค์ ของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช 

โดยมีวัตถุประสงค์ ๔ ประการ คือ
๑. สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการแสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
๒. ให้การช่วยเหลือประชาชนชาวไทยทุกรูปแบบ
๓. รับความช่วยเหลือ หรือให้ความร่วมมือกับสถาบันอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ คล้ายคลึงกัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานและเพื่อขยายกิจการ
๔. ประกอบกิจการอันเป็นสาธารณกุศลอื่น ๆ รวมทั้งส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ด้วยความเป็นกลางและไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สิน แก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด

๒. ภารกิจหลักของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช 

การเป็นองค์กรหลักในการจัดงาน "๕ ธันวามหาราช" ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้นมา สืบต่อจาก คณะกรรมการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช ซึ่งเป็นองค์กรเฉพาะกิจ ประสานการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งปีแรกของการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช แต่เนื่องจาก คณะกรรมการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช เป็นคณะกรรมการซึ่งดำเนินการจัดงานเป็นปี ๆ ไม่ถาวร แต่การดำเนินการจัดงาน ๕ ธันวามหาราชนั้นจะต้องดำเนินการในทุกๆ ปี ประกอบกับคณะกรรมการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล หรือมีฐานะใดๆ ในทางกฎหมาย จึงไม่สะดวก และคล่องตัวในการดำเนินงาน ดังนั้นจึงได้ทำการ จัดตั้งมูลนิธิขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ชื่อว่า "มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช" ดังกล่าวแล้ว

๓. ผลงานที่สำคัญของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช

๑. เป็นองค์กรหลักในการจัดงาน “๕ ธันวามหาราช” และงาน “ ๑๒ สิงหาพระบรมราชินีนาถ” ร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร พนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม และ ๑๒ สิงหาคม โดยมีพิธีการ กิจกรรม ต่าง ๆ เฉลิมพระเกียรติ และมหรสพสมโภชเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นประจำทุกปี


๒. ก่อสร้าง “หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ เพื่อประดิษฐานเอกสารที่เกี่ยวกับการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” และเอกสารสำคัญ รวมทั้งสื่อโสตทัศน์ที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และปัจจุบันเป็นที่ทำการของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราชด้วย


๓. เป็นองค์กรหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดพิธีจุดเทียนชัยถวายราชสดุดีเนื่องใน พระราชพิธี “กาญจนาภิเษก” วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ณ บริเวณท้องสนามหลวงและทั่วราชอาณาจักร


๔. จัดงานเฉลิมพระเกียรติและเฉลิมฉลองในวโรกาสราชาภิเษกสมรสครบ ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๓ และได้สร้างระฆังในวโรกาสราชาภิเษกสมรสครบ ๕๐ ปี เป็นระฆังทองคำคู่ ขนาดกว้าง ๕.๙ เซนติเมตร  สูง ๙ เซนติเมตร หนักใบละ ๕๐ บาท ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และได้จัดทำระฆังทองเหลืองจำลองคู่ ขนาดกว้าง ๕๙ เซนติเมตร สูง ๑๓๙ เซนติเมตร เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาสสำคัญนี้


๕. เป็นองค์กรหลักในการจัดงาน “๕๐ พรรษามหาวชิราลงกรณ” ซึ่งเป็นงานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๕


๖. เป็นองค์กรหลัก ในการรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนเป็นการส่วนพระองค์ในเขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางรัก และเขตสาทร กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๖


๗. จัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนในโอกาสต่าง ๆ ทั้งโครงการการตรวจรักษาโรค แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด การให้ความช่วยเหลือพระภิกษุที่อาพาธและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นประจำตลอดปี


๘. จัดทำ Website เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อว่า “www.belovedking.com” และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ชื่อว่า“www.belovedqueen.com


๙. เป็นองค์กรหลักร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบและกิจกรรมการบริหารงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรภาครัฐ เอกชน ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ พนักงานรัฐวิสาหกิจและประชาชนทุกสาขาอาชีพ จัดงานเฉลิมฉลองในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงราชาภิเษกสมรสครบ ๕๕ ปี เพื่อเผยแพร่พระบารมี พระเกียรติคุณ และ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ โดยได้จัดงาน “๕๕ ปี มหามงคลราชาภิเษกสมรส” ในวันที่ ๒๗-๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ ณ สโมสรตำรวจและมณฑลพิธีท้องสนามหลวง


๑๐. การทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล
ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๒๐ จำนวน ๓๓๙,๙๙๙ บาท
ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๖ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๖ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๒ จำนวน ๒๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สร้างตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)
ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๙ จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๔๕ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๔๗ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๔๘ จำนวน ๓๗,๓๘๖,๑๙๑ บาท
ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท


๑๑. เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๙ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มอบเงิน จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย


๑๒. เป็นองค์กรหลักในการจัดงานถวายพระพรและงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ระหว่าง วันที่ ๕-๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และในวโรกาสนี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ และ คณะกรรมการจัดงานฯ ได้สร้างพระสมเด็จพระนวมินทรศาสดาทองคำ น้ำหนัก ๗๘๙ บาท (ขณะนั้น ทองคำราคาบาทละ ๑๔,๐๐๐บาท รวมมูลค่า ๑๑,๐๔๖,๐๐๐ บาท) และได้ทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมเงิน จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในนามพสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๑


๑๓. เป็นองค์กรหลักในการจัดงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา “๕ธันวามหาราช” ในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ระหว่างวันที่ ๑-๙ ธันวาคม ๒๕๕๐ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และทุกจังหวัดทั่วประเทศ

๔. โครงสร้างในการดำเนินงานของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช

กใในการดำเนินงานของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช ยึดถือการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช และงาน ๑๒ สิงหาพระบรมราชินีนาถ เป็นงานหลัก โดยมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช จะจัดให้มีการดำเนินงานในลักษณะองค์กรเฉพาะกิจ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการและกองอำนวยการขึ้นรับผิดชอบจากบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจและประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อดำเนินงาน คือ
๑. ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
๒. ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
๓. คณะกรรมการที่ปรึกษา
๔. คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน
๕. คณะกรรมการจัดงาน
๖. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ
๗. กองอำนวยการจัดงาน
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช เป็นองค์กรหลักในการจัดงาน เฉลิมพระชนมพรรษา “๕ ธันวามหาราช” และ “๑๒ สิงหาพระบรมราชินีนาถ” ซึ่งจัดงานในลักษณะของภาค ประชาชนเป็นสำคัญ
ด้วยเหตุนี้มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช จึงจำเป็นจะต้องจัดโครงสร้างขององค์กร และ การดำเนินงานให้เป็นมาตรฐานดังกล่าวแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นก็อาจจัดโครงสร้างการดำเนินงาน และ ปรับรูปแบบให้มีความเหมาะสมได้

๕. โครงการสำคัญของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช

โครงการที่สำคัญของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช ในปีต่อไปนอกเหนือจากการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา “๕ ธันวามหาราช” และ “๑๒ สิงหาพระบรมราชินีนาถ” ได้แก่
 
๑. โครงการสร้างหอเฉลิมพระเกียรติราชาภิเษกสมรสเพื่อเป็นที่เก็บเอกสารสำคัญเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและประดิษฐานระฆังจำลองคู่ที่มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช ได้จัดสร้างขึ้นในวโรกาสราชาภิเษกสมรสครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๓
 
๒. โครงการจัดแพทย์อาสาสมัครช่วยเหลือประชาชนในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
 
๓. ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
bottom of page